ภาษีที่ดินวุ่นไม่เลิกเหตุเหลื่อมล้ำสูงกรมที่ดินจ่อถกอปท

วันที่ : 06/11/2560

“ภาษีที่ดิน” ส่อมีแววว่าจะบานปลาย! สนช. มอบคณะทำงาน 4 ฝ่าย หาทางป้องกันไม่ให้ระบบรวน เตรียมออก ก.ม.ลูก บรรเทา ชี้! เกษตร-SMEs-จัดสรรเหลื่อมล้ำ กรมที่ดินนัดถก อปท. ทั่วประเทศ ประเด็นต้องส่งข้อมูลภายใน 60 วัน หลังการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นควรยกเว้น ‘ภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัย’ ให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้เสนอให้เว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 จะมีการขยายเวลาการพิจารณากฎหมายภาษที่ดินออกไปอีก 60 วัน เป็นครั้งที่ 2


ล่าสุด พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพิจารณาใน กมธ. ยังมี 7-8 ประเด็นที่ความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งในคณะ กมธ. เอง และเสียงของแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเกณฑ์ในการจัดเก็บและประเภทกิจการ “กมธ. วาระ 1 พิจารณาปรับลดภาษีที่ดิน กรณีบ้านหลังแรก 20 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่รัฐบาลเสนอ 50 ล้านบาทขึ้นไป แทน เพื่อความเหมาะสม นอกจากนี้ กมธ. วาระ 2 ที่พิจารณายกเว้นให้ คือ บ้านหลังที่ 2, เถียงนา กระต๊อบ สำหรับเกษตรกร หากตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับบ้านหลังแรก มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้อยู่ในข่ายยกเว้น หากอยู่ต่างตำบลให้เก็บตั้งแต่บาทแรก จากการสำรวจพบว่า บ้านหลังที่ 2 ที่เป็นพื้นที่เกษตร ส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นของนายทุนต่างถิ่น ขณะที่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรจริง ๆ มีไม่เกิน 5-10 ไร่”

ยังพิจารณาผ่อนผันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนตั้งบริษัท แต่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว จะได้รับยกเว้นจัดเก็บภาษี 3 ปี หลังจากนั้นหากธุรกิจมีรายได้เข้ามา ให้เริ่มเสียภาษี ทั้งนี้ สมาร์ทเอสเอ็มอีเสนอให้ผ่อนผันกลุ่มของโรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟเอกชน สนับสนุนนักกีฬาทีมชาติ หากจัดเก็บภาษีประเภทพาณิชยกรรมจะกระทบการผลิตนักกีฬาทีมชาติ แต่มีบรรเทาการจัดเก็บภาษีสูงสุด 90%



แต่ กมธ.บางราย เห็นว่า ตัวเลขควรอยู่ที่ 95% ของมูลค่าที่ดิน นอกจากนี้ ยังผ่อนผันที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร หากยังไม่พัฒนาจะพิจารณาผ่อนผัน โดยเหตุผลที่จัดเก็บเป็นขั้นบันได เนื่องจากต้องใช้ฐานราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ใหม่ ปี 2562 ซึ่งหลายพื้นที่ราคาประเมินปรับขึ้นถึง 1,000% จากฐานราคาประเมินที่เคยใช้ 30 ปีก่อน หากจัดเก็บทันทีจะกระทบต่อประชาชนและเอกชน

หรือ การแบ่งฐานภาษีที่ดินเป็นขั้นบันได ตามมูลค่าราคาประเมิน ตอนนี้ตัวเลขยังไม่เคาะออกมา อาทิ จะพิจารณาจากมูลค่า 50-100 ล้านบาท หรือ มูลค่า 50-75 ล้านบาท, มูลค่า 100-150 ล้านบาท, มูลค่า 150-200 ล้านบาท และตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น เช่น มูลค่า 50-75 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.035% หรือ 0.04% เป็นต้น

“บางทำเลราคาประเมินขึ้น 1,000% และหากกรมธนารักษ์ปรับราคาประเมินจัดเก็บปี 2562 ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก ตัวอย่าง ปทุมธานีกับที่ดินชายขอบ กทม. ติดกัน ท้องถิ่นเรียกเก็บภาษีโรงเรือนกับบำรุงท้องที่ จะใช้ดุลพินิจที่ปทุมธานี ท้องถิ่นอ้างว่า ทำเลติดศูนย์ราชการเก็บ 20,000 บาท ที่ดินเขต กทม. กับติดกัน เก็บเพียง 8,000 บาท เป็นต้น ซึ่งมองว่า เหลื่อมล้ำ”

ขณะนี้ สนช. ได้มอบให้คณะทำงานทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมธนารักษ์, สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานกฤษฎีกา หาทางบรรเทาและออกกฎหมายลูก 23 ฉบับ รองรับ และให้เสนอกลับภายในเดือน ต.ค.


| ที่ดินถกท้องถิ่น |


นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเตรียมการของกรมที่ดินจากผลของร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ กรมที่ดินต้องจัดส่งข้อมูลเอกสารรูปแปลงที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้าง ให้กับหน่วยงานท้องถิ่น (กทม., อปท.) ในพื้นที่นั้น ๆ ภายใน 60 วัน เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้เตรียมการจัดเก็บภาษี 



อย่างไรก็ดี กรมที่ดินยังต้องทำข้อตกลงกับ อปท. เรื่องการใช้ข้อมูล ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ใช้เพื่อเก็บภาษีเท่านั้น อปท. ต้องกำกับดูแลให้ดี ห้ามนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น เพราะอาจส่งผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งเราต้องรักษาสิทธิ์ตรงนี้ให้ชาวบ้านด้วย โดยกรมที่ดินจะนัดหารือ อปท. ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน

กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กรมที่ดินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ อปท. ทราบ เช่น หากมีการแบ่งแยกโฉนด การรวมโฉนด หรือ ออกโฉนดใหม่ เพื่อที่ อปท. จะได้ทราบว่า ต้องไปเก็บภาษีกับใคร เช่นเดียวกัน กรณีมีการค้างจ่ายภาษี อปท. ก็ต้องแจ้งให้กรมที่ดินทราบ เพื่อที่กรมที่ดินจะสั่งระงับธุรกรรมจนกว่าจะมีการจ่ายภาษีค้างอย่างถูกต้อง

“ร่างกฎหมายระบุว่า จะทำธุรกรรมไม่ได้ เมื่อปรากฏจาก อปท. ว่า มีการค้างชำระ เว้นแต่กรณีมีการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คือ ต้องจ่ายชำระกันเสียก่อน และภายในเดือน มิ.ย. ของทุกปี อปท. มีหน้าที่ต้องแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้กับกรมที่ดิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลจดทะเบียน”

| เอกชนชง 2 หมวด อัตราเดียว |


สอดรับกับ นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องเพดานภาษีการจัดเก็บและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเนื้อหา พ.ร.บ. ยังไม่ครอบคลุม บางจุดไม่มีความชัดเจน หรือ ให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ตีความเอาเอง

ตัวอย่างเช่น ที่ดินเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่วันดีคืนดี ที่ดินแปลงข้าง ๆ มีกลุ่มทุนรายใหญ่มาสร้างศูนย์การค้า ทำให้ราคาประเมินที่ดินปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว เจ้าของที่นารอบข้างก็ถูกประเมินให้เสียภาษีในอัตราเดียวกับศูนย์การค้า ก็ไม่น่าจะถูกต้อง หรือ ห้องแถวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจตามหัวเมืองต่างจังหวัด เคยเสียค่าเช่า 2,000-3,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเมืองเจริญขึ้น มีการประเมินราคาใหม่ ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เจ้าของอาคารก็ต้องผลักภาระมาให้ผู้เช่า ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี อีกตัวอย่างคือ ปั๊มน้ำมันที่อยู่ในเขตเมือง เนื้อที่ 2-3 ไร่ มีหัวจ่ายน้ำมันไม่กี่หัว เนื้อที่ส่วนใหญ่เป็นลานจอดรถ ห้องน้ำก็ถูกนำมาประเมินภาษีในอัตราพื้นที่การค้าด้วย”

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thansettakij.com

ข่าวล่าสุด

อสังหาริมทรัพย์เตรียมแผนพัฒนาโครงการเพื่อผู้สูงวัยกำลังซื้อสูง

วันที่ : 01/02/2562

โลกเปลี่ยนแปลงทุกวันและในปัจจุบันนั้น โลกมีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลการสำรวจของหลากหลายหน่วยงานพบว่าได้มีปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยพบว่าอัตราส่วนผู้สูงอายุนั้นได้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 25-30 โดยในประเทศไทยนั้นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น

3 คอนโดราคาพุ่ง ขายหมด รีเซลกระจาย

วันที่ : 31/01/2562

ในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายขึ้นและรถไฟฟ้ากลางเมืองเข้าถึงแทบจะทุกที่ในเมือง และในอนาคตรถไฟฟ้าก็อาจไม่ใช่จุดขายหลักอีกต่อไป สำหรับคอนโดมิเนี่ยมที่มี รถไฟฟ้ากว่าสองร้อยสถานีแล้ว เพราะฉะนั้นแล้ว ทางเลือกทดแทนอาจจะมีเต็มไปหมด

คอนโดโซนรัชดาบูมกับจำนวนยูนิตสร้างเสร็จใหม่

วันที่ : 31/01/2562

รัชดาภิเษกนั้นถือเป็นหนึ่งในย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เพราะนอกจากจะมีทั้งอาคารสำนักงานจำนวนมากแล้วนั้นยังมีโครงการคอนโดมิเนี่ยมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างเสร็จพร้อมอยู่อีกจำนวนมากเช่นกัน โดยมีการวิจัยจาก บริษัท ไรส์แลนด์ จำกัด

ทำกำไรจากคอนโดด้วยกฎ 7 ข้อ

วันที่ : 31/01/2562

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยทั้ง หน้าใหม่และหน้าเก่าที่ลาออกจากการทำงานประจำเพื่อมาสานต่อธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการออกหนังสือเกี่ยวกับคอนโดมิเนี่ยมมาขายและได้รับความนิยมมากมาย

สงวนลิขสิทธิ์ © 2016 bannforsale
Top